อันตรายจากสารเคมี

สารเคมี คือ ธาตุหรือสารประกอบที่รวมกันด้วยพันธะทางเคมีซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สังเคราะห์ขึ้น โดยองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของสสารก็คือสารเคมี

สารเคมีอันตราย หมายถึง ธาตุ หรือสาร ประกอบ ที่มีคุณสมบัติเป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และทำให้ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สามารถจำแนกได้ 9 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด
ประเภทที่ 2 ก๊าซ
ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ
ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ
ประเภทที่ 5 วัตถุออกซิไดส์และออร์แกนิกเปอร์ออกไซค์
ประเภทที่ 6 วัตถุมีพิษและวัตถุติดเชื้อ
ประเภทที่ 7 วัตถุกัมมันตรังสี
ประเภทที่ 8 วัตถุกัดกร่อน
ประเภทที่ 9 วัตถุอื่นๆ ที่เป็นอันตราย

ตัวอย่างสัญลักษณ์และความหมายที่แสดงถึงคุณสมบัติความเป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์








ความอันตรายของสารเคมีสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ความอันตรายทางกายภาพ เช่น การระเบิด การติดไฟ เป็นต้น
2. ความอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การระคายเคือง แสบ คัน ก่อโรคต่างๆ เป็นต้น
3. ความอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทำลายระบบนิเวศน์ สะสมในสิ่งมีชีวิต เป็นต้น

ความเป็นพิษของสารเคมี แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง คัน แสบ ร้อน พุพอง เช่น กรด ต่างๆ ก๊าซคลอรีน แอมโมเนีย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

สารที่ทำให้หมดสติได้ สารเคมีนี้ไปแทนที่ออกซิเจน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ไซยาไนด์
สารเสพติด เป็นสารที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาท เช่น สารที่ระเหยได้ง่าย ได้แก่ แอลกอฮอล์ เบนซินอะซิโตน อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม ทำให้ปวดศีรษะ เวียน มึนงง

สารที่เป็นอันตรายต่อระบบการสร้างโลหิต เช่น ตะกั่วจะไปกดไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง
ทำให้เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติเกิดโลหิตจาง

สารที่เป็นอันตรายต่อกระดูก ทำให้กระดูกเสียรูปร่าง หรือทำให้กระดูกเปราะ ฟอสฟอรัส แคลเซียม

สารที่ทำอันตรายต่อระบบการหายใจ เช่น ปอด ทำให้เกิดเยื่อพังผืด ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับออกซิเจนได ความจุอากาศในปอดจะน้อยลงทำให้หอบง่าย เช่น ฝุ่นทราย ฝุ่นถ่านหิน

สารก่อกลายพันธ์ ทำอันตรายต่อโครโมโซม ซึ่งความผิดปกติจะปรากฏให้เห็นในลูกหรือ ชั้นหลาน เช่น

สารกัมมันตภาพรังสี สารฆ่าแมลง โลหะบางชนิด ยาบางชนิด

สารก่อมะเร็ง ทำให้สร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ มากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดเนื้องอกชนิดที่ไม่จำเป็น เช่น สารกัมมันตภาพรังสี สารหนู แอสแบสตอสนิเกิ้ล เวนิลคลอไรด์ เบนซิน

สารเคมีที่ทำให้ทารกเกิดความพิการ คลอดออกมามีอวัยวะไม่ครบ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ แขนด้วน ขาด้วน ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาธาลิโดไมด์ สารตัวทำละลายบางชนิด ยาปราบศัตรูพืชบางชนิด

วิธีที่สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกาย

1. การหายใจ : การหายใจเป็นการเข้าสู่ร่างกายที่สำคัญของสารเคมีที่อยู่ในรูปของไอระเหย ก๊าซ ละออง หรือ อนุภาค เมื่อสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายระบบทางเดินหายใจ หรือเข้าสู่ปอด กระแสเลือดแล้วทำลายอวัยวะภายใน
2. ดูดซึมผ่านผิวหนัง (หรือตา) :โดยการสัมผัสหรือจับกันสารพิษ อาจมีผลกระทบที่ค่อนข้างน้อย เช่น เป็นผื่นแดง หรือรุนแรงมากขึ้น เช่น ทำลายโครงสร้างของผิว หรือทำให้อ่อนเพลียหรืออาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำลายอวัยวะหรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายขั้นรุนแรง และอาจตายได้
3. การกินเข้าไป : หาสารที่กินเข้าไปมีฤทธิ์กัดกร่อน จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารสารที่ไม่ละลายในของเหลวในทางเดินอาหารจะถูกขับออกทางอุจจาระ ส่วนสารที่ละลายได้จากถูกดูดซึมผ่านผนังของทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะภายใน ความเป็นพิษขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเคมีที่กินเข้าไป
4. การฉีดเข้าไป : สารอาจเข้าสู่ร่างการได้ถ้าผิวหนังถูกแทงหรือทำให้ฉีกขาดด้วยวัตถุที่ปนเปื้อน ผลกระทบเกิดขึ้นเมื่อสารนั้นเข้าสู่กระแสเลือดและสะสมในอวัยวะเป้าหมาย

องค์ประกอบของความพิษที่เกิดจากสารเคมีขึ้นอยู่กับ

ความไวรับของแต่ละบุคคล
อายุ
ภาวะโภชนาการ
ระยะเวลาของการเกี่ยวข้องสัมผัส
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เช่น การสัมผัสกับความร้อนจะเสริมให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น

ลักษณะความเป็นพิษของสารเคมี

แบบเฉียบพลัน : เป็นการสัมผัสที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เช่น หนึ่งนาทีถึงสองสามวัน อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ เกิดผลผื่นคันระคายเคือง ผิวหนังไหม้ อักเสบ ขาดอากาศ หน้ามืด วิงเวียน

แบบเรื้อรัง : เป็นการสัมผัสสารที่ระดับค่อนข้างต่ำในระยะเวลานานตั้งแต่เป็นเดือนถึงเป็นปี อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ การเกิดความพิการในทารก (Teratogenic) การเกิดความผิดปกติทางสายพันธ์ในตัวอ่อน หรือการผ่าเหล่า (Uutagenic) การผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น การเปลี่ยนแปลงของ DNA การเกิดมะเร็ง (Carcinogenic)

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้ที่สัมผัสสารเคมี
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ จำแนกตามวีถีทางที่ได้รับ 3 ทาง ดังนี้

1. การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก
2. การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ
3. การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก

ทำให้สารพิษเจือจางลง ในกรณีรู้สึกตัวและไม่มีอาการชัก โดยการดื่มน้ำชาซึ่งหาได้ง่าย แต่ถ้าได้นมจะดีกว่า เพราะว่าจะช่วยเจือจางสารพิษแล้ว ยังช่วยเคลือบและป้องกันอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหารแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการล้างท้องเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร

ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ต้องใช้เวลานานในการนำส่งผู้ป่วย
เช่น ใช้นิ้วล้วงคอ ใช้ไม้พันสำลีกวาดคอซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ รู้สึกอยากขย้อน อยากอาเจียน

ข้อห้ามในการทำให้ ผู้ป่วยอาเจียน
หมดสติ
ได้รับสารพิษชนิดกัดเนื้อ เช่น กรด ด่าง
รับประทานสารพิษพวก น้ำมันปิโตรเลียม เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน
มีสุขภาพไม่ดี เช่น โรคหัวใจ

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ
สารพิษที่เข้าสู่ทางการหายใจ ได้แก่ ก๊าซพิษ ซึ่ง แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

ก๊าซที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ถึงแก่ความตายได้ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ปัจจุบันพบว่าก๊าซที่ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างบ่อย ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง อากาศเป็นพิษ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อหายใจเข้าไปในร่างกาย ก๊าซนี้จะแย่งที่กับออกซิเจนในการจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ ร่างกายจึงมีอาการของการขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในรถยนต์

ก๊าซที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คอ หลอดลม และปอด ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ตายได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่มีสีแต่มีกลิ่นฉุน พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทำกรดกำมะถัน

ก๊าซที่ทำให้อันตรายทั่วร่างกาย ได้แก่ ก๊าซอาร์ซีน ไม่มีสีกลิ่นคล้ายกระเทียม พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรมใช้ทำแบตเตอรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง

การปฐมพยาบาล

กลั้นหายใจและรีบเปิดประตูหน้าต่าง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท มีอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในห้อง ปิดท่อก๊าซ หรือขจัดต้นเหตุของพิษนั้น ๆ
นำผู้ป่วย ออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปยังที่มีอากาศบริสุทธิ์
ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ผายปอดและนวดหัวใจ
นำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง

การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีถูกผิวหนัง

ล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ อย่างน้อย ๑๕ นาที
อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
ปิดแผล แล้วนำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา

ล้างตาด้วยน้ำนาน ๑๕ นาที่ โดยการ เปิดน้ำก๊อกไหลรินค่อย ๆ
อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
ปิดตา แล้วนำส่งโรงพยาบาล

เรียบเรียงโดย นายธิติภพ เกตุแก้ว

เอกสารอ้างอิง

สารเคมี และการใช้สารเคมี ในภาคอุตสาหกรรม โดย นายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
การป้องกันและควบคุมสารเคมี สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
การระวังภัยจากสารเคมีอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Posted in บทความ.